การกำกับดูแลกิจการที่ดี
กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ
กฎบัตรคณะกรรมตรวจสอบ
คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท
ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”)
ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการชุดย่อยของคณะกรรมการบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการบริษัท
ในการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับความถูกต้องของรายงานทางการเงิน
ประสิทธิภาพระบบ การควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ
และหลักจรรยาบรรณต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
นอกจากนี้
คณะกรรมการตรวจสอบจะทำหน้าที่ในการสอบทานความเพียงพอและความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานของบริษัท
รวมทั้งรับผิดชอบในการจัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อนำเสนอในรายงานประจำปีของบริษัท
และเพื่อให้การปฏิบัติงานและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเป็นไปอย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ
ดังนั้น
การปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบ
จึงต้องดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในการทำงานกับคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร
รวมทั้งผู้ตรวจสอบภายนอกและผู้ตรวจสอบภายในของบริษัท
และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กรรมการตรวจสอบแต่ละท่านจำเป็นต้องพัฒนาและดำรงไว้ซึ่งความชำนาญงานและความรอบรู้ตลอดจนความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ
รวมทั้งเข้าใจในธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี
1. องค์ประกอบ
1 ) คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้งคณะอย่างน้อย
3 คน โดยกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน
มีความรู้และประสบการณ์ด้านบัญชีและ/หรือการเงินเพียงพอที่จะทำหน้าที่สอบทานให้มีระบบรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน
ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบาย ระเบียบข้อบังคับ
ตลอดจนกฎหมายและข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล
รวมถึงต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
2 )คณะกรรมการตรวจสอบเลือกกรรมการตรวจสอบ
1 คน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
และแต่งตั้งเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการนัดหมายการประชุม
การจัดเตรียมวาระการประชุม การนำส่งเอกสารประกอบการประชุม
และการบันทึกรายงานการประชุม
2. คุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบ
1 ) เป็นกรรมการบริษัทและเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นกรรมการอิสระตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (”ตลาดหลักทรัพย์ฯ”)
ประกาศกำหนด
2 ) ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท
บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท
3 ) เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ
และมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน
เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในด้านบัญชีหรือการเงินอย่างเพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่สอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้
3. การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและวาระการดำรงตำแหน่ง
1 ) คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(แล้วแต่กรณี) เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการอิสระของบริษัทเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ
2 ) คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะเป็นผู้ทำการสรรหาและเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรนี้
เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบโดยจะนำเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งต่อไป วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และให้เป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท
โดยที่กรรมการตรวจสอบอาจได้รับการแต่งตั้งต่อไปได้อีกวาระหนึ่ง
ตามที่คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นว่าเหมาะสม (แล้วแต่กรณี)
3 ) กรณีกรรมการตรวจสอบครบวาระการดำรงตำแหน่ง
หรือมีเหตุใดที่กรรมการตรวจสอบไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ
มีผลให้จำนวนสมาชิกน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดคือ 3 คน
คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ควรแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบรายใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรนี้เป็นกรรมการตรวจสอบแทนในทันทีหรืออย่างช้าภายใน
3 เดือนนับแต่วันที่จำนวนสมาชิกไม่ครบถ้วน
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
4 ) ในกรณีกรรมการตรวจสอบลาออกหรือถูกพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง
ให้บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที ทั้งนี้
กรรมการตรวจสอบที่ลาออกหรือถูกถอดถอนสามารถชี้แจงเหตุดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(“สำนักงาน ก.ล.ต.”) และตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยก็ได้
5 ) นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระดังกล่าวข้างต้น
กรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
1 ) ตาย
2 ) ลาออก
3 ) ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการตรวจสอบตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรนี้
4 ) ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการบริษัทหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดหรือ
มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(และที่แก้ไขเพิ่มเติม) รวมทั้งประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้อง
5 ) คณะกรรมการบริษัท
มีมติให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ
6 ) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัท
(ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงและมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง)
7 ) ศาลมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท
กรรมการตรวจสอบคนใดจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นหนังสือลาออกต่อบริษัท
โดยการลาออกนั้นจะมีผลนับแต่วันที่ระบุให้มีผลในหนังสือลาออก
4. บทบาท
หน้าที่ และความรับผิดชอบ
1) สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
2) สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน
(Internal Control) และระบบการตรวจสอบภายใน (Internal
Audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล
และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน
ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย
เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน
หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
3) สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
4) พิจารณา คัดเลือก
เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทและเสนอค่าตอบแทนของบุคคล
ดังกล่าว
รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ
1 ครั้ง
5) พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้
เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
6) มีอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนตามที่จำเป็นในเรื่องต่างๆ
ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท
โดยให้รายงานผลการตรวจสอบและสอบสวนต่อคณะกรรมการบริษัท
เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นควร
7) มีอำนาจในการแสวงหาความเห็นที่เป็นอิสระจากที่ปรึกษาทางวิชาชีพอื่นใดเมื่อเห็นว่าจำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัท
เพื่อให้การปฏิบัติงานภายใต้หน้าที่รับผิดชอบสำเร็จลุล่วงด้วยดี
8) จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
โดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท
ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบและต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อย
ดังต่อไปนี้
ก)
ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน
เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท
ข)
ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัท
ค)
ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
ง)
ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
จ)
ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ช)
ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร
(charter)
ซ)
รายงานอื่นที่เห็นว่าผู้ถือและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขต หน้าที่
และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
9) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ
5. การประชุม
1 ) ให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย
1 ครั้ง ทุก ๆ ระยะเวลา 3 เดือน
ตามรอบระยะเวลาการจัดทำรายงานทางการเงิน
2 ) ประธานกรรมการตรวจสอบอาจเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษได้หากมีการร้องขอจากกรรมการตรวจสอบ
ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชี หรือ
ประธานกรรมการบริษัทให้พิจารณาประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องหารือร่วมกัน
3 ) ให้คณะกรรมการตรวจสอบจัดให้มีการประชุมเฉพาะกับผู้สอบบัญชีของบริษัทโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ
1 ครั้ง โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วม
4 ) วาระการประชุม
4.1) ในการประชุมแต่ละครั้ง
บริษัทจะกำหนดวาระการประชุมไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน
และนำส่งเอกสารประกอบการประชุมให้คณะกรรมการตรวจสอบและผู้เข้าร่วมประชุมเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย
7 วัน เพื่อให้คณะกรรมการ
ตรวจสอบมีเวลาพอสมควรในการพิจารณาเรื่องต่างๆ
หรือเรียกขอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน
เพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท
ให้สามารถแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีอื่นหรือกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้
4.2) การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบ
เพื่อพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ควรประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ
ดังต่อไปนี้
- การพิจารณางบการเงินและรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง
หลักการบัญชีและวิธีปฏิบัติทางบัญชี การปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี
การดำรงอยู่ของกิจการ การเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีที่สำคัญ
รวมถึงเหตุผลของฝ่ายจัดการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายบัญชีก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อเผยแพร่แก่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป
- การพิจารณาระบบการควบคุมภายใน
(Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal
Audit) รวมทั้งประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี (Management
Letter)
- การพิจารณาทบทวนแผนการตรวจสอบภายในประจำปี
(Audit Plan) ของบริษัทและบริษัทย่อย
ขั้นตอนการประสานงานของแผนการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต่างๆ
และการประเมินผลการตรวจสอบร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชี
คณะกรรมการตรวจสอบควรสอบถามถึงขอบเขตการตรวจสอบ
ที่ได้วางแผนไว้เพื่อให้มั่นใจว่าแผนการตรวจสอบดังกล่าวจะช่วยให้ตรวจพบการทุจริตหรือข้อบกพร่องต่าง
ๆ ของระบบการควบคุมภายใน
- การพิจารณาร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในถึงปัญหาหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในระหว่างการตรวจสอบ
และทบทวนการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน
- การพิจารณาร่วมกับผู้สอบบัญชีถึงปัญหาหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบงบการเงิน
- การพิจารณาร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีว่าได้มีการวางแผนเพื่อทบทวนวิธีการและการควบคุมการประมวลข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์
และสอบถามเกี่ยวกับโครงการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะ
เพื่อป้องกันการทุจริตหรือการใช้คอมพิวเตอร์ไปในทางที่ผิดโดยพนักงานบริษัทหรือบุคคลภายนอก
- การพิจารณาให้ความเห็นรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
เช่น รายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท เป็นต้น
- การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ
- การพิจารณาประเมินผลหน่วยงานตรวจสอบภายใน
รวมทั้งการกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม
- การพิจารณาประเมินผลตนเองเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย
- เรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบ
6. องค์ประชุมและการลงคะแนนเสียง
6.1) การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ
ต้องมีกรรมการตรวจสอบมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการตรวจสอบทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานคณะกรรมการตรวจสอบเป็นประธานที่ประชุม ในกรณีที่ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
ไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการตรวจสอบซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการตรวจสอบคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
6.2) การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการตรวจสอบแต่ละคนมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน กรณีเสียงเท่ากัน
ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
6.3) ในการออกเสียงลงคะแนน
กรรมการตรวจสอบคนหนึ่งมีสิทธิออกเสียงหนึ่งเสียง
เว้นแต่กรรมการตรวจสอบซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใด
จะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น